การเยี่ยมบ้านนักเรียน

วันที่โพสต์: Jun 07, 2018 11:2:42 PM

การเยี่ยมบ้านนักเรียน 

           การที่ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาจะจัดบริการ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนองตอบความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลนั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลรายละเอียดของนักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจน สามารถรู้จุดอ่อนจุดแข็ง ข้อจำกัด รวมถึงสัญญาณอันตรายหรือข้อบ่งบอกที่จำเป็นต้องให้การดูแลช่วยเหลือการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง และการพัฒนาส่งเสริมจากครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างถูกวิธี อาจต้องอาศัยเทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล อาทิ ระเบียนสะสมแบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบบันทึกสุขภาพ บันทึกประจำวัน การศึกษารายกรณี สังคมมิติ บทบาทสมมติ ภาพวาด เรียงความ อัตชีวประวัติ เป็นต้น 

แต่ละเทคนิควิธีมีขั้นตอนที่ยากง่ายแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของครู อาจารย์ และสภาพปัญหาของนักเรียนในแต่ละกรณี นักเรียนบางคนอาจรู้จักได้ง่าย แต่นักเรียนบางคนอาจต้องใช้ความพยายาม และเครื่องมือหลายประเภท เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเยี่ยมบ้านเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม และสามารถรู้จักนักเรียนได้อย่างลึกซึ้ง ช่วยให้เห็นสภาพของนักเรียนแต่ละคนได้ในทุกมิติ 

การเยี่ยมบ้านเป็นวิธีการหนึ่งในขั้นตอนการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็น ขั้นตอนแรก ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเยี่ยมบ้านนักเรียน มีรายละเอียดและแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้ 

นิยามและความหมาย 

           การเยี่ยมบ้านนักเรียน หมายถึง วิธีการศึกษา รวบรวมข้อมูล ที่ช่วยให้ครูได้ทราบชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางบ้านของนักเรียน โดยการพบปะสนทนากับผู้ปกครองนักเรียน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เจตคติซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างบ้านกับโรงเรียน ทำให้ครูได้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนอย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น 

วัตถุประสงค์ของการเยี่ยมบ้าน 

1. เพื่อเยี่ยมเยือนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้านกับโรงเรียน 

2. เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวนักเรียน ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ ครอบครัว ฐานะทางการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เห็นสภาพที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงได้ยินแต่คำบอกเล่าเท่านั้น 

3. เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำกับผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา การอบรมสั่งสอน และการเลี้ยงดูนักเรียน 

4. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนในการพัฒนา ส่งเสริม ป้องกันและแก้ปัญหาของนักเรียน 

แนวทางการดำเนินงานระดับสถานศึกษา 

1. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและประชาชนทราบการดำเนินงาน โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์อย่างหลากหลาย เช่น การประชุมผู้ปกครอง การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน การจัดทำแผ่นพับ การจัดทำจดหมายข่าว ฯลฯ 

2. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ระยะทาง สมาชิกในครอบครัวว่านักเรียนอยู่กับใคร อยู่อย่างไร หากไปแล้วจะพบใครบ้าง 

3. วิเคราะห์ว่าใครคือคนที่ต้องการพบ เช่น พ่อแม่ หรือ ลุง ป้า น้าอาของนักเรียน 

4. เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ และประเด็นในการสนทนา 

5. นัดหมายล่วงหน้า เพื่อให้พร้อมทั้งสองฝ่าย หรือในกรณีที่ต้องการข้อมูลจำเป็นเร่งด่วน จะไม่ 

นัดหมายก็ได้ หากต้องการข้อมูลที่เป็นธรรมชาติไม่มีการจัดฉาก ผู้เยี่ยมบ้านอาจไม่นัดหมายล่วงหน้า 

6. ไปตามนัด กรณีที่ไปไม่ได้ต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะผู้ปกครองนักเรียนบางคนอาจต้องหยุดงานเพื่อรอพบครู ไม่ควรเลื่อนนัดถ้าไม่จำเป็น 

7. หากไปตามนัดแล้วไม่พบใคร ให้ถามเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อทราบข้อมูลที่จะมาในครั้งต่อไป 

วิธีการรวบรวมข้อมูล 

1. การสังเกตสภาพที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมของนักเรียน และบุคคลในบ้านนักเรียน 

2. การพูดคุยสนทนากับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียน 

ข้อมูลที่ได้จะรวบรวมไว้หลายระดับ เพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา 

นักเรียน 

· ครูที่ปรึกษา จะรวบรวมข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล ทั้งด้าน ความสามารถทางการเรียน ด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ด้านความประพฤติ ด้านครอบครัว เศรษฐกิจ ด้านสวัสดิภาพ ความปลอดภัย 

· ระดับโรงเรียน จะประมวลข้อมูลเป็นสารสนเทศในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน

นักเรียนสามารถกรอกข้อมูลที่อยู่บ้านนักเรียน ได้ที่  https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdp1pCM35SJAOwihT88yp4C8QsKMtMhJB8oU33Z_UIEgRag6Q/viewform