กระบวนการและขั้นตอน

กระบวนการและขั้นตอนของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2559 : 14-20) ได้กล่าวถึงกระบวนการและขั้นตอนของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ดังนี้ 1. การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2. การคัดกรอง 3. การส่งเสริมและพัฒนา     4. การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข   5. การส่งต่อ

การรู้จักนักเรียนเป็นบุคคล

ด้วยความหลากหลายของนักเรียน และนักเรียนแต่ละคนซึ่งมีพื้นฐานความเป็นมาของชีวิตที่แตกต่างกัน ผ่านการหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมในหลายลักษณะ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น การรู้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับตัวนักเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ครูอาจารย์มีความเข้าใจนักเรียนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการคัดกรองนักเรียนและนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนา การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้อย่างถูกทางซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย ตามหลักวิชาการ มิใช่การใช้ความรู้สึกหรือ

คาดเดา โดยเฉพาะในการแก้ปัญหานักเรียนซึ่งจะทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาดต่อการช่วยเหลือนักเรียน

การคัดกรองนักเรียน

การคัดกรองนักเรียน เป็นการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนเพื่อการจัดกลุ่มนักเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหาวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นด้วยความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาจจัดกลุ่มนักเรียนตามผลการคัดกรองเป็น 2, 3 หรือ 4 กลุ่มก็ได้ ตามขอบข่ายและเกณฑ์

การคัดกรองที่โรงเรียนกำหนด เช่น ในกรณีที่แบ่งนักเรียนเป็น 4 กลุ่ม อาจนิยามกลุ่มได้ดังนี้

1. กลุ่มปกติ คือ นักเรียนที่ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มปกติ ซึ่งควรได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและการส่งเสริมพัฒนา

2. กลุ่มเสี่ยง คือ นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องให้การป้องกันและแก้ไขตามกรณี

3. กลุ่มมีปัญหา คือ นักเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องช่วยเหลือและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

4. กลุ่มพิเศษ คือ นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ มีความเป็นอัจฉริยะแสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเทียบกับผู้มีอายุในระดับเดี่ยวกันภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งโรงเรียนต้องให้การส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความสามารถพิเศษนั้นจนถึงขั้นสูงสุด

การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน

การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียนกลุ่มปกติหรือกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหา กลุ่มความสามารถพิเศษให้มีคุณภาพมากขึ้น ได้พัฒนาเต็มศักยภาพ มีความภาคภูมิใจในตนเองในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มปกติและกลุ่มพิเศษกลายเป็นนักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหา และเป็นการช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหากลับมาเป็นนักเรียนกลุ่มปกติและมีคุณภาพตามมาตรฐานที่โรงเรียนหรือชุมชมคาดหวังต่อไป

การส่งเสริมและพัฒนานักเรียนมีหลายวิธีที่โรงเรียนสามารถพิจารณาดำเนินการได้ แต่มีกิจกรรมหลักสำคัญที่โรงเรียนต้องดำเนินการ คือ

1. การจัดกิจกรรมโฮมรูม

2. การเยี่ยมบ้าน

3. การจัดประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน (Classroom Meeting)

4. การจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การป้องกันและแก้ไขปัญหา

ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครูควรให้ความเอาใจใส่กับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหานั้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องให้ความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และหาวิธีการช่วยเหลือทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหา โดยไม่ปล่อยปละละเลยนักเรียนจนกลายเป็นปัญหาของสังคม การสร้างภูมิคุ้มกัน การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียน จึงเป็นภาระงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าอย่างมากในการพัฒนาให้นักเรียนเติบโตเป็นบุคคลที่

มีคุณภาพของสังคมต่อไป

การป้องกันและการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนนั้นมีหลายเทคนิควิธีการ แต่สิ่งที่ครูที่ปรึกษาจำเป็นต้องดำเนินการมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. การให้คำปรึกษาเบื้องต้น

2. การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

การส่งต่อ

ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนโดยครูที่ปรึกษา อาจมีกรณีที่บางปัญหามีความยากต่อการช่วยเหลือ หรือช่วยเหลือแล้วนักเรียนมีพฤติกรรมไม่ดีขึ้นควรดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไปเพื่อให้ปัญหาของนักเรียนได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกทางและรวดเร็วขึ้น หากปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของครูที่ปรึกษาหรือครูคนใดคนหนึ่งเพียงลำพังความยุ่งยากของปัญหาอาจมีมากขึ้น หรือลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โตจนยากต่อการแก้ไข ซึ่งครู

ที่ปรึกษาสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่กระบวนการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือการคัดกรองนักเรียนก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาของนักเรียนในแต่ละกรณี

การส่งต่อแบ่งเป็น 2 แบบ

1. การส่งต่อภายใน ครูที่ปรึกษาส่งต่อไปยังครูที่สามารถให้การช่วยเหลือนักเรียนได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหา เช่น ส่งต่อครูแนะแนว ครูพยาบาล ครูประจำวิชา หรือฝ่ายปกครอง

2. การส่งต่อภายนอก ครูแนะแนวหรือฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญภายนอก หากพิจารณาเห็นว่าเป็นกรณีปัญหาที่มีความยากเกินกว่าศักยภาพของโรงเรียนจะดูแลช่วยเหลือได้

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2559 :23-30)ได้กล่าวว่า ใน

การดำเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต้องมีผู้รับผิดชอบดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ ตามขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพจึงจะช่วยให้นักเรียนทุกคนได้รับ

การดูแลช่วยเหลือตามเจตนารมณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

1. คณะกรรมการอำนวยการ (ทีมนำ)

คณะกรรมการอำนวยการ (ทีมนำ) ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการตามตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ รองผู้อำนวยการทุกฝ่าย หัวหน้าระดับ หัวหน้างานแผนงาน หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และหัวหน้างาน

แนะแนว เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการอำนวยการ (ทีมนำ) มีบทบาทหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1.1 ส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนและผดุงรักษาระบบการดูแลและช่วยเหลือนักเรียน

1.2 สร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาบุคลากร

1.3 เป็นผู้นำในการผนึกผสาน บูรณาการภารกิจโดยรวมของสถานศึกษา

1.4 ประสานสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้ทีมประสานทีมทำ และเครือข่าย

การดำเนินงานจากทุกภาคส่วน

1.5 นิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล

2. คณะกรรมการประสานงาน (ทีมประสาน)

คณะกรรมการประสานงาน (ทีมประสาน) ประกอบด้วยรองผู้อำนวยการที่ผู้บริหารมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ ตามตำแหน่งและหน้าที่ต่าง ๆ ได้แก่ หัวหน้าระดับทุกระดับ หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หัวหน้างานอนามัย ครูพยาบาล และหัวหนางาน

แนะแนวเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการประสานงาน (ทีมประสาน) มีบทบาทหน้าที่ดังต่อไปนี้

2.1 ปฏิบัติงานในฐานะบุคลากรหลักในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

2.2 ประสานงานระหว่างคณะกรรมการอำนวยการ (ทีมนำ)และคณะกรรมการดำเนินงาน (ทีมนำ) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

2.3 จัดทำเครื่องมือ สื่ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการพัฒนาดำเนินงาน และรับผิดชอบในการชี้แจง สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้ปฏิบัติงาน

2.4 จัดการประชุมคณะกรรมการทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเพื่อแสวงหาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

2.5 สรุปรายงานผลการดำเนินงานและดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

3. คณะกรรมการดำเนินงาน (ทีมทำ)

คณะกรรมการดำเนินงาน (ทีมทำ) ประกอบด้วย หัวหน้าระดับชั้นเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการตามตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ได้แก่ รองหัวหน้าระดับ ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอน และครูแนะแนว เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการดำเนินงาน (ทีมทำ) มีบทบาทหน้าที่ ดังต่อไปนี้

3.1 ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการประชุมชี้แจง

3.2 บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงาน ประเมินผลและจัดทำรายงานตามระดับชั้น

3.3 ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของครูที่ปรึกษาและนักเรียน เพื่อประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

3.4 ประชุมคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

3.5 ดำเนินการดูแลให้ความช่วยเหลือนักเรียนตามขั้นตอนและกระบวนการของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

บทบาทหน้าที่ของบุคลากรในคณะกรรมการดำเนินงาน (ทีมทำ)

1. หัวหน้าระดับ/รองหัวหน้าระดับ

1.1 ติดตาม กำกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูที่ปรึกษา

1.2 ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

1.3 จัดประชุมครูในระดับเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

1.4 จัดประชุมกลุ่มเพื่อปรึกษาปัญหารายกรณี (Case Conference)

1.5 บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานและจัดทำรายงานประเมินผลระดับ ส่งผู้บริหาร โดยผ่านทีมประสาน

2. ครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น

2.1 ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามแนวทางที่กำหนดดังนี้

การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยการรวบรวมข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล จัดทำข้อมูลให้เป็นระบบและเป็นปัจจุบัน

การคัดกรองนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูล จำแนกจัดกลุ่มนักเรียน เช่น กลุ่มเด็ก

มีความสามารถพิเศษ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหาต้องการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

ส่งเสริมและพัฒนานักเรียน โดยจัดกิจกรรม โครงการ โครงงาน ส่งเสริมพัฒนานักเรียนให้รู้จักตนเอง รักและเห็นคุณค่าในตนเองมีทักษะในการดำเนินชีวิต

การป้องกันและแก้ไขปัญหา ดูแลช่วยเหลือให้คำปรึกษา กรณีปัญหาที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม

การส่งต่อ กรณีปัญหาของนักเรียนซับซ้อน ให้ส่งต่อไปยังครูแนะแนว

ฝ่ายปกครอง หรือมีทักษะความสามารถตรงกับลักษณะปัญหา

2.2 พัฒนาตนเองด้านองค์ความรู้ทางจิตวิทยาการแนะแนวและการให้คำปรึกษา

2.3 ร่วมประชุมกลุ่มปรึกษาปัญหารายกรณี

2.4 บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานและประเมินผล รายงานส่งหัวหน้าระดับ

3. ครูแนะแนว

3.1 นิเทศ (Supervising) สนับสนุนและเป็นแกนหลักแก่ครูที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องทุกคนในการให้ความรู้ เทคนิค วิธีการและกระบวนการตามหลักจิตวิทยาและการแนะแนวเพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในประเด็นสำคัญต่อไปนี้

3.2 ให้คำปรึกษา (Counseling) แก่นักเรียน (ในกรณีที่ครูที่ปรึกษาไม่สามาถแก้ไขหรือยากต่อการช่วยเหลือ) ผู้ปกครอง และผู้ขอรับบริการทั่วไป

3.3 ประสาน (Co-ordinating) กับผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา เป็นระบบ “เครือข่าย” ในการดำเนินงานแนะแนวและการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

3.4 จัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนในคาบแนะแนว

3.5 ให้บริการต่าง ๆ หรือจัดทำโครงการ กิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

3.6 ร่วมประชุมกลุ่มปรึกษาปัญหารายกรณี

3.7 ในกรณีที่นักเรียนมีปัญหายากต่อการช่วยเหลือของครูแนะแนว ให้ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญภายนอกและติดตามผลการช่วยเหลือนั้น

3.8 บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานและประเมินผลรายงานส่งผู้บริหารหรือหัวหน้าระดับ

4. ครูผู้สอนประจำวิชาและครูที่เกี่ยวข้อง

4.1 ศึกษาข้อมูลของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อรู้จักและเข้าใจนักเรียนอย่างแท้จริง

4.2 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียนแก่ครูที่ปรึกษา และให้ความร่วมมือกับครู

      ที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

4.3 ให้ข้อมูลการรู้จักและเข้าใจผู้เรียนในการจัดกระบวนการเรียนรู้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและบริการต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

4.4 ให้คำปรึกษาเบื้องต้นในรายวิชาที่สอน ด้านการศึกษาต่อการประกอบอาชีพ ทักษะการดำรงชีวิต และบุคลิกภาพที่พึงประสงค์

4.5 พัฒนาตนเองด้านองค์ความรู้ทางจิตวิทยาและการแนะแนวและนำมาบูรณาการในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

4.6 ร่วมประชุมกลุ่มปรึกษาปัญหารายกรณี ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

4.7 บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงาน สรุปผล และรายงานส่งหัวหน้าระดับ

5. ผู้แทนนักเรียน

5.1 เรียนรู้ ทำความเข้าใจกรอบแนวคิดของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

5.2 ประสานงานในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของเพื่อนนักเรียน

5.3 มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม

5.4 เป็นแกนนำในการดูแลช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้และการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตอย่างเต็มตามศักยภาพ